ดื่มแอลกอฮอล์หนักแค่ไหนเสี่ยงตับพัง



ถ้าดื่มแอลกอฮอล์หนักมาก ตับจะพังต่อ(เนื่อง)ไม่รอแล้วนะ !! วันนี้เราจะมาดูกันว่า ถ้าคุณดื่มแอลกอฮอล์ขนาดไหนกันที่จะส่งผลต่อตับของคุณได้

ในทางการแพทย์ได้กำหนดไว้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ 12- 15 กรัมเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย งั้นเรามาดูกันก่อนว่าเครื่องดื่มมึนเมาแต่ละชนิดมีปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไหร่กันบ้าง

·       เริ่มที่เบียร์ 1 กระป๋อง มีแอลกอฮอล์ประมาณ 13 กรัม



·       ไวน์ 1แก้ว มีแอลกอฮอล์ประมาณ 12 กรัม





·       วิสกี้ 2 ฝา มีแอลกอฮอล์ประมาณ 14 กรัม



แล้วก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ต้องดื่มหนักแค่ไหนกันล่ะ? ถึงทำให้ตับของเราพังได้ มีผลการศึกษาระบุว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 80 กรัม(5 หน่วย) เป็นเวลาไม่มากกว่า 10 ปี สามารถก่อให้เกิดตับแข็งได้ แต่ก็มีเพียงร้อยละ 15 - 20 เท่านั้นที่จะเกิดตับแข็ง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในส่วนที่เหลืออีกเกือบ 80 % ไม่มีโอกาสเป็นตับแข็ง เพราะคนที่เป็นไปแล้วอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นจนกว่าจะมีอาการแทรกซ้อนขึ้นมา ดังนั้นการตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อเช็คตับของเราว่ายังดีอยู่หรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่ควรทำไม่น้อย 

ทีนี้เราก็เริ่มเป็นห่วงตับของตัวเองกันบ้างแล้วว่าตอนนี้ตับของฉันจะสบายดีอยู่หรือเปล่า หากคุณเป็นนักดื่มตัวยงอยู่แล้ว ลองแวะมาอ่านเช็คสุขภาพตับกันสักนิดดีกว่าค่ะ

ผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับ 
แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

1.     ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic fatty liver)

ลักษณะของตับ :  ถ้าตรวจร่างกายอาจพบว่ามีการสะสมของไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มขึ้นในเซลล์ตับ ตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบนุ่มและกดไม่เจ็บ

อาการของผู้ป่วย : ในระยะนี้มักจะไม่มีอาการใดๆ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย

วิธีการรักษา :  ผู้ป่วยในระยะนี้ถ้าหยุดดื่มสุราตับจะสามารถกลับเป็นปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพตกค้าง

ความเสี่ยง :  ถ้ายังดื่มอยู่ก็จะลุกลามไประยะ ที่ 2



2.       ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis)

ลักษณะของตับ :  เมื่อตรวจร่างกายในระยะนี้จะพบว่าตับมีขนาดใหญ่และกดเจ็บ เนื้อของตับเริ่มจะแข็งกว่าระยะแรก และเมื่อตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะพบความผิดปกติของการทำงานตับอย่างชัดเจน

อาการของผู้ป่วย :  อาการน้อยๆ เช่น จุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน ไข้สูง เป็นต้น ส่วนอาการทางสมอง ได้แก่ อาการสับสน วุ่นวาย ไปจนถึงอาจหมดสติได้ รวมถึงอาจเกิดตับวาย ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงต้องเข้ารับการรักษาทันที

วิธีการรักษา : หยุดดื่มเด็ดขาด รับประทานอาหารและรับวิตามินเสริมอย่างเพียงพอ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีภาวะขาดสารอาหารและวิตามิน หากหยุดดื่มเหล้าในระยะนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอาการดีขึ้นและอาจกลับเป็นปกติได้

ความเสี่ยง :  ถ้าผู้ป่วยยังดื่มต่อไม่หยุด ก็มีโอกาสลุกลามเข้าไปสู่ระยะที่ 3 ที่เรียกว่าตับแข็ง


3. ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis)

ลักษณะของตับ :  มีผังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ตับผิวไม่เรียบ ขรุขระ เป็นก้อน และมีขนาดเล็กลง

อาการของผู้ป่วย : เป็นดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือดสดๆเพราะเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก มีภาวะทุกขโภชนาการ กล้ามเนื้อลีบ

วิธีการรักษา : หยุดดื่มแอลกอฮอล์ถาวรและรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เพราะผู้ป่วยระยะนี้อยู่ในภาวะทุกขโภชนา

ความเสี่ยง :  แม้หยุดดื่มตับก็ไม่กลับมาปกติแค่ช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อตับเสียหายกว่าที่เป็นอยู่ อาจกลายเป็นมะเร็งตับ


            ฉะนั้นหากคุณเป็นนักดื่มที่เริ่มรักตับมากกว่าการดื่มแล้วล่ะก็ ลองหาเวลาพักตับและเข้ามาพบแพทย์ให้ดูแลสุขภาพตับของคุณสักหน่อย เพื่อกำจัดล้างสารพิษให้ลดลง ไม่งั้นตับจะพังต่อไม่รอละนะ

อ่านข้อมูลการล้างพิษตับได้ที่  https://bit.ly/2QuyjyS






ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม