เบาหวาน รู้ก่อนเบาใจ ควบคุมได้..เบาโรค

            เบาหวาน รู้ก่อนเบาใจ ควบคุมได้..เบาโรค


               โรคเบาหวาน อาจใกล้ตัว..มากกว่าที่คุณคิด  เพราะหนึ่งสาเหตุสำคัญอาจมาจากอาหารหรือผลไม้ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานในแต่ละวัน รวมไปถึงเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น ช่วยคลายเครียด แต่ “เสี่ยงเบาหวาน” ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าเบาหวานคืออะไร?

  เบาหวาน (Diabetes)  คือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ สาเหตุจาก ขาดฮอร์โมน อินซูลิน หรืออินซูลินมีการทำงานที่ผิดปกติ  ซึ่งการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆส่งผลให้อวัยวะและเนื้อเยื่อทั้งหมดในร่างกายมีการทำงานผิดปกติและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้







 
               อินซูลิน (Insulin) คือ ฮอร์โมนที่สร้างมาจากตับอ่อนทำหน้าที่ในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลเพื่อเปลี่ยนให้เป็นในรูปของพลังงาน เข้าไปสู่กล้ามเนื้อและเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งถ้าหากอินซูลินทำงานผิดปกติ น้ำตาลที่ได้ก็จะตกค้างอยู่ในกระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลายคนสงสัยว่าหน้าที่ของอินซูลินเปรียบได้กับอะไร?



               พลังงานน้ำตาล                           =    ผู้โดยสาร
               ฮอร์โมนอินซูลิน                          =    แท็กซี่  
               เซลล์,กล้ามเนื้อ,อวัยวะต่างๆ     =    จุดหมาย

เบาหวาน เปรียบดัง  “ กรุงเทพฯ ในวันที่ฝนตก ”

“ ฝนตกที..โบกแท็กซี่ กี่คันก็ไม่ไป  บ้างขับไปได้สักพัก กลับเทผู้โดยสาร..อย่างไร้น้ำใจ ไม่สนฟ้า-ฝนใดๆ ปฏิเสธกันเป็นว่าเล่น ภาพที่เห็นคือผู้โดยสารตกค้างเต็มสองข้างทาง  ยังคงยืนรอแท็กซี่ อย่างมีความหวัง ”


เบาหวานแบ่งออกหลักๆได้ 2 ประเภท


เบาหวานประเภทที่ 1 : ประเภทเลือกเกิดไม่ได้ เป็นชนิดที่พบได้น้อย ประมาณ 10%* และมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ในวัยเด็ก สาเหตุมาจากตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่ได้เลยหรือสร้างได้น้อยมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทน เพื่อให้ร่างกายสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ 


เบาหวานประเภทที่ 2 : ประเภทป้องกันได้ เป็นชนิดที่พบเป็นส่วนใหญ่ มากกว่า 80-90%* เกิดจากการที่ตับอ่อนยังสามารถสร้างอินซูลินได้แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้(เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน) น้ำตาลจึงตกค้างในกระแสเลือดจำนวนมาก ซึ่งมักเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุ น้ำหนักเกิน โดยการรักษาจะเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ให้ยารับประทานหรือฉีดอินซูลินร่วมด้วย 

เบาหวานประเภทที่ 2 นี้ เรียกง่ายๆว่า แท็กซี่มีเยอะ แต่ไม่ว่าง อ้าง..ส่งรถ บ้างก็ไปส่งแก๊ส  
* International Diabetes Federation, 2003


ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน



1. อายุมากขึ้น  : เพราะอายุที่มากขึ้น เข้าสู่วัยชรา ร่างกายจึงไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2. บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน : ข้อนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะการมีพ่อแม่หรือญาติเป็นเบาหวานมักเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน


3. ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ : เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้ดื้ออินซูลิน ซึ่งนอกจากนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆตามมาด้วย

โดยสามารถคำนวณน้ำหนักตัวที่เหมาะสมด้วยการเทียบค่าดัชนีมวลกาย (body mass index : BMI)  


ดัชนีมวลกายที่เหมาะสมสำหรับชาวเอเชียและคนไทยคือ  18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตรกำลัง2  ถ้ามากกว่านี้จะเข้าสู่ภาวะอ้วน ซึ่งเสี่ยงกับโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูงได้

นอกจากนี้หากคำนวณแล้วมีน้ำหนักตามเกณฑ์ แต่มีไขมันหน้าท้องมากหรือเรียกว่า อ้วนลงพุง บุคคลกลุ่มนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง และเสี่ยงเป็นเบาหวานได้เช่นกัน



4. ความดันโลหิตสูง  : ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคพี่ ก็ต้องมีโรคน้อง โรคความดันโลหิตสูงก็มักจะตามมาด้วยเบาหวาน เพราะมันมีปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน เช่น การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน การทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และการไม่ออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น


 5.ภาวะตั้งครรภ์   : ความเสี่ยงนี้มักเกิดในสตรีขณะตั้งครรภ์ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์บางรายเกิดภาวะร่างกายต่อต้านอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ


6.             ดื่มสุราและสูบบุหรี่  : เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำส่งผลให้จำนวนของอินซูลินลดลง แต่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดกลับจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้หากคำนวณโดยละเอียด แอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงานถึง 7 แคลอรี่ ซึ่งจัดว่าให้พลังสูงมาก ซึ่งถ้าดื่มหนักมาก ร่างกายก็จะนำพลังงานเหล่านี้ไปใช้ โดยที่ร่างกายไม่เกิดการเผาผลาญพลังงาน นำพาไปสู่โรคอ้วนลงพุง  


หากคุณมีความเสี่ยงเหล่านี้ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาออกกำลังกายรักษาสุขภาพ รวมไปถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนจะสายเกินแก้กันนะคะ



“ เพราะความเจ็บป่วยป้องกันได้ ”


PANACEE PREVENTIVE HOSPITAL
-----------------------------------------------------------

02-452-2999  โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2




 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม