โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ซึ่งหากมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย)
ไขมันในเลือด ที่สำคัญ
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คืออะไร ?
คอเลสเตอรอล จัดอยู่ในกลุ่มสารไขมันในเลือด (Lipid Profile) เหล่าไขมันทั้งหลายในร่างกาย โดยทั่วไปแล้วสามารถสร้างได้จาก “ตับ” และนอกจากนี้คือการได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เมื่อคอเลสเตอรอลอยู่ในเลือดแล้ว จะจับตัวรวมกับโปรตีนที่เรียกว่า lipoprotein ซึ่งทำให้แบ่งได้เป็นอีก 2 ชนิดที่สำคัญ นั่นก็คือ คือ
- HDL (High density lipoprotein) ไขมันดี
- LDL (Low density lipoprotein) ไขมันไม่ดี - ไขมันเลว
1. HDL cholesterol : ไขมันดี
คอเลสเตอรอลชนิดดี จะทำหน้าที่ช่วยป้องกันการสะสม ทั้ง LDL-ไขมันไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ ไม่ให้ไปสะสมที่หลอดเลือด นอกจากนี้ยังจับกับคอเลสเตอรอลส่วนเกินในกระแสเลือด เพื่อนำกลับไปทำลายที่ตับเพื่อขับออกจากร่างกาย ดังนั้นในร่างกายหากมี HDL สูงก็จะยิ่งส่งผลดีต่อร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
ค่า HDL ที่เหมาะสม ควรมากกว่า 40 mg/dL
2. LDL cholesterol : ไขมันไม่ดี
ไขมันไม่ดีจะทำหน้าที่ขนส่งไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับ ออกไปแจกจ่ายไว้ทั่วร่างกาย ทำให้ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ไขมันตัวร้ายที่สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด
- LDL มีความหนาแน่นต่ำ มีโอกาสจะรวมตัวเป็นก้อน เกาะตามหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ
- LDL มีขนาดเล็กเคลื่อนที่ได้เร็ว ทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายจากการถูกเฉี่ยวชน และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ไขมัน แคลเซียม เกล็ดเลือด กระเด็นไปฝังตัวและสะสมไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย (heart attack) อาการอัมพฤกษ์ - อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งค่า LDL ที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 100 mg/dL
*นอกจากนี้ยังมีคอเลสเตอรอลอีกหลายชนิด เช่น VLDL (Very Low Density Lipoprotein) ,Chylomicron ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า LDL
3. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
เป็นไขมันที่ทำหน้าที่หลัก คือเป็นแหล่งของพลังงานของร่างกาย โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานถึง 9 Kcal ซึ่งไขมันชนิดนี้สามารถสังเคราะห์ได้จาก ตับ เช่นเดียวกันกับไขมันชนิดอื่น และได้รับเพิ่มจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น น้ำมันพืช เนย ไขมันสัตว์ นม เป็นต้น เมื่อไตรกลีเซอไรด์เข้าสู่เลือดแล้ว จะถูกส่งไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ต้องการพลังงาน ไตรกลีเซอไรด์ส่วนเกินจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) หรือที่เรียกกันว่า (Body fat) สะสมในส่วนต่างๆเช่น หน้าท้อง แขน ขา เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย สาเหตุที่ทำให้หลายๆคนดูรูปร่างอ้วน ไม่สมส่วนนั่นเอง และมีโอกาสสะสมที่อวัยวะภายในอย่าง ไต ตับ ได้เช่นกัน
ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 150 mg/dL
สรุปว่า.. ไขมัน ค่าปกติควรอยู่ที่เท่าไร ?
- ไขมันรวม : Total cholesterol ควรน้อยกว่า 200 mg/dL
- ไขมันดี HDL : ค่าที่เหมาะสม ควรมากกว่า 40 mg/dL
- ไขมันไม่ดี LDL : ค่าที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 100 mg/dL
- ไตรกลีเซอไรด์ TG : ค่าที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 150 mg/dL
การเตรียมตัว ก่อนตรวจไขมัน
หากท่านต้องการทราบระดับไขมันในเลือด สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด หรือการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งก่อนการตรวจ จำเป็นต้องงดดื่มน้ำ งดรับประทานอาหารอย่างน้อย 10 - 12 ชั่วโมง หรือเรียกง่ายๆว่า ตรวจ 8 โมงเช้า ควร งดรับประทานอาหารหลัง 2 ทุ่ม แต่ถ้าหากรู้สึกหิว หรือกระหาย สามารถจิบน้ำได้เล็กน้อย
ไขมันสูง!! สาเหตุหลัก เกิดจากอะไร ?
ข้อมูลที่สนใจจาก HEART UK (Hyperlipidemia Education Atherosclerosis and Research Trust) ประเทศอังกฤษ บอกว่า Life style คือสาเหตุหลัก ที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง!!
สาเหตุหลัก
- รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จำพวกไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน เนย มาร์การีน น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และอาหารประเภททอด รวมถึงอาหารคอเลสเตอรอลสูงจำพวกเครื่องในสัตว์ และ กุ้ง หอย หมึก ไข่ปลา
- ไม่ค่อยขยับตัว ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
- น้ำหนักเกิน รอบเอวกว้าง ภาวะอ้วน รับประทานอาหารมากเกินความต้องการ เมื่อเผาผลาญไม่หมด จะถูกนำไปสะสมไว้ในรูปไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้มีลักษณะอ้วน ลงพุง
- สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะได้พลังงานส่วนเกินแล้ว ผลจากแอลกอฮอล์ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นอีกด้วย
สาเหตุรอง
- เบาหวานชนิดที่ 2 แม้ว่าคุณจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ตาม แต่ระดับไขมันในเลือดจะสูง เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (ฮอร์โมนควบคุมน้ำตาลในร่างกาย)
- ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) จะทำให้ระดับไขมัน LDL ในเลือดสูง
- ผู้ป่วยโรคไต ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนมาก ร่างกายจะกระตุ้นตับให้สร้างโปรตีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตับปล่อยไขมันออกมาในเลือดสูงขึ้น และยาขับปัสสาวะอาจส่งผลข้างเคียงร่วมด้วย
- ผู้ป่วยโรคตับ โรคตับอักเสบ ไขมันพอกตับ เพราะอาจส่งผลให้การสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะสูงขึ้น
- ยารักษาโรค บางชนิดส่งผลให้ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด ยาลดความดันโลหิตสูง ฯลฯ
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นตามธรรมชาติ
สาเหตุทางพันธุกรรม
HEART UK ยังกล่าวอีกว่า กว่า 100 ยีนที่มีอิทธิพลต่อระบบการจัดการคอเลสเตอรอลในร่างกาย และเราทุกคนได้รับยีนนี้สืบทอดมาจากพ่อแม่ และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน ในบางคน พันธุกรรมนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
• ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนที่มีชื่อเรียกว่า Apolipoprotein E หรือ ApoE มีผลโดยตรงต่อระดับ LDL และระบบการจัดการไขมันในเลือด เรียกภาวะความผิดปกตินี้ว่า Familial dysbetalipoproteinemia (FDBL) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลขึ้นสูง
• ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Familial Hypercholesterolaemia (FH , FHTG ) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 250 – 1,000 mg/dL
• ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Familial Combined Hyperlipidaemia (FCH) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 200 - 800 mg/dl เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากกว่าแบบ FHTG
• ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Polygenic Hypercholesterolaemia เกิดจากความผิดปกติของยีนหลายตัว (Polygenic) ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แตกต่างจากแบบ FH , FHTG ที่เกิดจากความผิดปกติของยีนตัวเดียว (monogenic)
คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง ?
คอเลสเตอรอลสูงก็มักจะถูกเรียกว่า "นักฆ่าเงียบ" เช่นกับ ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งหากคุณมีคอเลสเตอรอลสูง ก็อาจทำให้คุณประสบกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้
- อาการปวดขา ขณะเดิน (Claudication) เกิดจากกล้ามเนื้อขาขาดเลือด หรือเกิดการอุดตันในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral arterial disease: PAD) ทำให้เกิดอาการปวดขา ปวดเท้า หรือปวดน่อง
- อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina Pectoris) เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ปวดแน่นเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณอก
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ หัวใจวาย (Heart attack) เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพและตายลง
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการสะสมคราบ (Plaque) คราบไขมัน ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านใน มีความหนามากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ มีความดันโลหิตสูง และเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน ตีบ แข็ง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากการอุดตันภายในหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หากรักษาไม่ทันท่วงที ในบางรายผู้ป่วยจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และในบางรายก็เสียชีวิต โดยพบว่าโรคหลอดเลือดสมองชนิด Ischemic Stroke ผู้ป่วยมักจะมีเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย
- ไขมันพอกตับ สาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากการดื่มหนัก! แต่นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้นั้น คือ ภาวะอ้วน และไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อไขมัน สูง!!
ขั้นตอนสำคัญคือ ควบคุมอาหารและเลือกรับประทานเพื่อสุขภาพ เริ่มแรกต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย เรามาดูความต้องการพลังงานโดยประมาณ ดังนี้
- 1600 Kcal สำหรับเด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ
- 2000 Kcal สำหรับวัยรุ่น ชายวัยทำงาน
- 2400 Kcal สำหรับผู้ที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา เกษตรกร กรรมกร
หลีกเลี่ยงอาหาร ประเภทไขมันอิ่มตัว เพราะไขมันประเภทนี้จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ได้แก่ เนย เนยเทียมหรือมาการีน น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันไก่ เนื้อสัตว์ติดมัน ไส้กรอก เบคอน ชีส นมแบบไขมันเต็มส่วน ขนมอบ พาย เค้ก ครีมเค้ก น้ำมันมะพร้าวและกะทิ
รับประทานอาหาร ประเภทไขมันไม่อิ่มตัว เพราะไขมันไม่อิ่มตัวดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะไม่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (ไขมันเลว) หรือ LDL ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดพืช น้ำมันอาโวคาโด น้ำมันดอกทานตะวัน รวมถึงกรดไขมันปลา เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน มีกรดไขมันโอเมกา 3
เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ได้แก่ ผักประเภทใบ ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย
ออกกำลังกาย และขยับร่างกายให้มากขึ้น
หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันสูง รักษาที่นี่ มีวิธีใดบ้าง ?
• Plasmapheresis การกรองพลาสมาเพื่อการรักษา เป็นการกรองเพื่อคัดแยก แอนติบอดี้ สารก่อการอักเสบ ของเสีย หรือสารพิษบางส่วนออกจากน้ำเหลือง หรือ พลาสมา โดยจะนำเลือดส่วนที่ดี ส่งกลับคืนให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งเติมวิตามินหรือสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
• Chelation โปรแกรมล้างพิษในหลอดเลือด ลดคราบสะสมในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
• IV treatment – Fat Burn
• IV treatment – Weight loss
• IV treatment – Liver Detox
• IV treatment – Lipid Exchange
• Vitamin Supplement
ไขมันในเลือดสูง ป้องกันได้
คุณสามารถทำการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงคุณสามารถการป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ด้วยการตรวจคัดกรองวิธีต่างๆ ดังนี้
• Blood Testing การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
• ABI Check up (Ankle Brachial Index) การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เป็นการตรวจสภาพความตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่แขน-ขา เพื่อเช็คดูว่าการอุดตันในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease : PAD) หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง การเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
• Max pulse Analysis การตรวจวัดสภาพภายในหลอดเลือด เพื่อบ่งชี้ถึงคุณภาพการไหลเวียนโลหิต ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด วัดอายุของหลอดเลือด ดูการทำงานที่ส่งผลแสดงมายังระบบประสาทอัตโนมัติ
• Apo-E Genetic Testing การตรวจคัดกรองพันธุกรรมนี้ เป็นการตรวจยีนที่มีชื่อว่า ApoE ” ชื่อเต็ม Apo lipoprotein E คือ ยีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผาผลาญคอเลสเตอรอลในร่างกาย ยีนนี้จะสามารถบอกได้ว่าร่างกายของเรามีระบบการจัดการไขมันเลว (LDL ไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย)อยู่ในระดับใด ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมระดับไขมันในกระแสเลือด และที่สำคัญพันธุกรรมของบางคนส่งผลให้ระบบ ขจัดไขมันได้ไม่ดี ทำให้ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่ดี ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้ยังสามารถบอกภาวะบกพร่องทางความจำ หรือความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย เป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว เพราะผลรหัสพันธุกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต
• ECP Therapy (External Counter Pulsation) โปรแกรมยืดอายุการทำงานของหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีการนวดกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตร่างกาย เป็นทรีทเมนต์เพื่อสุขภาพหัวใจ และยังมีงานวิจัยอ้างอิงว่า ECP สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่หลอดเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบภายใน ทำให้แผลผู้ป่วยเบาหวานหายได้เร็วขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง ป้องกันก่อนเกิด...ปรึกษาเราได้ที่นี่
PANACEE PREVENTIVE HOSPITAL
“ เพราะความเจ็บป่วยป้องกันได้ ”
-----------------------------------------------------------
02-452-2999 โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2
References
Cunha JP, William C, Shiel Jr. Claudication. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 16]. Available from: https://www.medicinenet.com/claudication/article.htm
Harvard Health Publishing. Blocked arteries may be causing that leg pain when you walk. [Internet]. 2013. [cited 2018 OCT 16]. Available from: https://www.health.harvard.edu/pain/blocked-arteries-may-be-causing-that-leg-pain-when-you-walk
HEART UK - The Cholesterol Charity. What can cause high cholesterol. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: https://heartuk.org.uk/health-and-high-cholesterol/what-causes-high-cholesterol
Marcin J: The Healthline Editorial Team. Fatty Liver (Hepatic Steatosis).[Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 05]. Available from: https://www.healthline.com/health/fatty-liver#causes
คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การเตรียมตัวก่อนเจาะเลือด. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: http://allied.tu.ac.th/hcsc/mt/before-blood-test/
ชนิพรรณ บุตรยี่, นัฐพล ตั้งสุภูม; คณะอนุกรรมการสังเคราะห์องค์ความรู้ ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้บริโภค สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา. อาหารและโภชนาการสำหรับผู้บริโภควัยทำงานและหญิงเจริญพันธุ์. องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับทุกช่วงวัย. 2559: 67
นิพาวรรณ ไวศยะนันท์ : ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. อาหารสำหรับผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia). [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-67
วรรณฤดี เชาว์ศรีกุล :งานวิจัยและผลงานวิชาการ ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสทธิประสงค์. มารู้จักค่าไขมันในเลือดกันเถอะ.[Internet]. 2016. [cited 2018 OCT 02]. Available from: http://www.bcnsp.ac.th/km/index.php/2016-06-13-07-23-51/38-2016-08-16-02-32-33
วัลลภ พรเรืองวงศ์. 8 วิธีลดไขมัน(ไตรกลีเซอไรด์)ในเลือด. [Internet]. 2013. [cited 2018 OCT 05]. Available from: https://www.gotoknow.org/posts/242652
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). โรคไขมันในเลือดสูง Dyslipidemia ที่มาและการรักษา. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 10]. Available from: http://www.thaihealth.or.th/blog/myblog/topic/961/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น