การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่องEKG หรือ ECG
Electrocardiogram หลายคนสงสัยว่าทำไมอักษรย่อจึงเป็น EKG นั่นเป็นเพราะว่าต้นกำเนิดของเจ้าเครื่องนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยแพทย์และนักสรีรวิทยาชาวดัตช์ “Willem Einthoven” ซึ่งในภาษาดัตช์และภาษาเยอรมันจะใช้คำว่า Elektrokardiogramm จึงย่อว่า EKG และหากย้อนไปดูถึงรากศัพท์แพทย์ในภาษากรีก: kardia, ก็หมายถึง หัวใจ ซึ่งจากการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือการแพทย์ชิ้นนี้ ในภายหลังก็ทำให้ Einthoven ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์อีกด้วย
EKG เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพหัวใจขั้นพื้นฐาน เป็นการตรวจเช็คว่า หัวใจยังทำงานเป็นปกติหรือไม่?โดยแพทย์จะนำผลการตรวจที่ได้ ไปใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคร่วมกับวิธีการตรวจอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าหากคุณมีโรคประจำตัวอย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง แพทย์มักจะให้ทำการตรวจ EKG เพื่อตรวจเช็คดูความผิดปกติและความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ง่าย ใช้เวลาไม่มาก
3 Steps ตรวจเช็คสุขภาพหัวใจ❤ ขั้นพื้นฐาน
Step ที่ 1❤ : ตรวจร่างกาย – ฟังเสียงหัวใจ
ในการตรวจสุขภาพทุกครั้ง จะต้องมีการวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เป็นพื้นฐานเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายโดยรวมว่ามีความสมดุลอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ น้ำหนักเกินหรือไม่ แล้วขั้นตอนต่อไปแพทย์จึงจะทำการตรวจหัวใจอย่างละเอียดอีกครั้ง จากการประเมินอัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ และฟังเสียงของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจแสดงถึงความผิดปกติของระบบหัวใจ และการไหลเวียนเลือดในร่างกาย อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยร้ายแรง
Step ที่ 2 ❤: EKG ตรวจคลื่นไฟฟ้า ทดสอบจังหวะหัวใจ
การตรวจ EKG เป็นที่นิยมในทุกโรงพยาบาล เพราะการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีวิธีการง่ายๆ เเละได้ผลดี ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ผลที่ได้จะแสดงที่หน้าจอของเครื่อง และพิมพ์ออกมาในรูปแบบกราฟ อ่านผลโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เครื่อง EKG จะเป็นการตรวจที่สามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ได้ในหลายกรณี ดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- โรคเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
* EKG เป็นหนึ่งในการตรวจสุขภาพหัวใจขั้นพื้นฐาน โดยแพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค
ขั้นตอนในการตรวจหัวใจ ด้วย EKG หรือ ECG
1. ผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายลงบนเตียง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
2. จากนั้นจะมีการเช็ดทำความสะอาดผิวหนัง หรือทาเจล บริเวณที่จะมีการติดตัวรับกระแสไฟฟ้า
3. เจ้าหน้าที่จะทำการติดตัวรับกระแสไฟฟ้า บริเวณหน้าอก แขน และขา ประมาณ 12 จุด
4. ในขณะที่ EKG กำลังประมวลผล ผู้เข้ารับการนอนอยู่ในท่าผ่อนคลาย ไม่เกร็ง และไม่ควร พูดคุย
หรือเคลื่อนไหวมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนของผลตรวจได้
5. เครื่องแสดงผลเป็น “กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ” นำส่งแพทย์อ่านผลและวินิจฉัยโรค
"ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ
ไม่ได้หมายความว่า... ไม่เป็นโรคหัวใจ"
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ EKG/ECG
- การตรวจ EKG ไม่จำเป็นต้องมีการอดน้ำและอาหาร
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว มียารับประทานประจำ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมตัวเป็นพิเศษ
- ไม่ควรออกกำลังกาย ก่อนการตรวจ EKG เพราะอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนของผลตรวจได้
Step ที่ 3 ❤:ตรวจเลือด ด้วยความห่วงใยสุขภาพ
การตรวจเลือดนอกจากจะเป็นการตรวจวัดระดับสารต่างๆในเลือด เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆเเล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและออกแบบการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แพทย์อาจมีการส่งตรวจต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสรุปการวินิจฉัยเมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค
เพราะผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยก็มักจะพบกับปัญหาสุขภาพในหลายโรคที่มีความสัมพันธ์กัน อย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไต ก็อาจส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่และเพิ่มความเสียงต่อการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงแพทย์จะวิเคราะห์เรื่องการใช้ยาเพื่อลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาร่วมกันหลายชนิด
นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO นำมาบอกต่อประชาชน เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยสถิติที่น่าสนใจในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการสรุปผลสำรวจปีล่าสุด 2015 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 17.7 ล้านคน คิดเป็น31% จากสาเหตุการตายทั้งหมด ขณะที่สถานการณ์ไทยกระทรวงสาธารณสุขก็เปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตที่น่าตกใจ เพราะคนไทยเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจขาดเลือด เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน *เป็นสถิติล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข ต่อประชากร 100,000 คน ปี 2012 – 2016 และประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจสูงถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ผู้ป่วยหัวใจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แล้วคุณล่ะ คุณเคยสังเกตตัวเองไหม?
ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการคลื่นไส้ เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ
เคยได้ยินสัญญาณ เตือนจาก(โรค)หัวใจหรือเปล่า?
ป้องกันก่อนเกิด...ปรึกษาเราได้ที่นี่
PANACEE PREVENTIVE HOSPITAL
“ เพราะความเจ็บป่วยป้องกันได้ ”
-------
02-452-2999 โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2
David B. Geselowitz. Electrocardiography. [Internet]. 2015. [cited 2018 Aug 23]. Available from: https://ethw.org/Electrocardiography
Dr. Dean Jenkins and Dr. Stephen Gerred ECG Library. ECG history.[Internet]. 2013. [cited 2018 Aug 24]. Available from: https://ecglibrary.com/ecghist.html
George Edward Burch and Nicholas P. Depasquales. 1990. A History of Electrocardiography, second edition. Norman, OK: Norman Publishers, 1990.
Oxford Online Dictionaries. EKG. [Internet]. [cited 2018 Aug 24]. Available from: https://en.oxforddictionaries.com/definition/EKG
PobPad.com. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG/ECG. [Internet]. 2016. [cited 2018 Aug 23]. Available from: https://www.pobpad.com/ekgecg
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ประเด็นสารรณรงค์วันหัวใจโลก ปีพ.ศ. 2561. [Internet]. 2018 [cited 2018 Aug 20]. Available from: http://thaincd.com/document/file/download/knowledge61
สถาบันโรคทรวงอก. ความรู้พื้นฐานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ.[Internet]. 2013. [cited 2018 Aug 24]. Available from: http://www.budhosp.go.th/news/archive/07102013
สมาคมคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. การตรวจทางหัวใจ.[Internet]. 2010. [cited 2018 Aug 24]. Available from: http://www.thaiheart.org
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น